เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (HRH the Prince Charles, The Prince of Wales พระนามเต็ม ชาลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ; ประสูติ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ส่วนที่สกอตแลนด์พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "เจ้าชายชาลส์ ดยุกแห่งโรธเซย์" นอกจากนี้ยังมีพระอิสริยยศ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ ที่ทรงใช้บ่อยครั้งในความเกี่ยวเนื่องกับแคว้นคอร์นวอลล์ พระองค์เป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 หากแต่มีลำดับพระอิสริยยศเป็นที่ 3 ในลำดับโปเจียมต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะว่าที่กษัตริย์พระองค์ต่อไปของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ไอร์แลนด์เหนือและประเทศในเครือจักรภพ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนับตั้งแต่ได้ทรงเจริญพระชนม์พอสมควร อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักจากการทรงเสกสมรสกับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์และความรักอันอื้อฉาวของพระองค์กับคามิลลา ปากเกอร์โบลส์
เจ้าชายชาลส์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ที่พระราชวังบักกิงแฮม พระบิดาคือเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระมารดาคือเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเอดินบะระ รัชทายาทของราชบัลลังก์อังกฤษในขณะนั้น เจ้าชายทรงรับบัพติศมาที่ห้องดนตรี พระราชวังบักกิงแฮมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2491 พระองค์มีพระบิดาและพระมารดาทูนหัวคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สมเด็จพระราชินีแมรี เจ้าหญิงมากาเร็ต มาชันเนสเนสมิลฟอร์ด ฮาเวน เดวิด โบวส์-ลีออน (พระอนุชาในสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระราชชนนี) เลดี้บราบรูน สมเด็จพระราชาธิบดีฮากุนที่ 7 แห่งนอร์เวย์ และเจ้าชายจอร์จแห่งกรีก
ตามพระมราชโองการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 สมเด็จพระปัยกา (ปู่ทวดหรือตาทวด) ของเจ้าชาย สั่งว่าผู้ที่จะดำรงอิสริยยศเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งอังกฤษนั้น ถ้าเป็นชั้นพระราชนัดดาแล้ว จะต้องผ่านทางสายพระราชโอรสเท่านั้น ในขณะที่ชาลส์เป็นพระราชนัดดาผ่านทางสายพระราชธิดา พระองค์ควรจะดำรงยศเป็นเอิร์ลแห่งมารีออนเน็ต (ซึ่งเป็นยศสำหรับทายาทผู้จะสืบตำแหน่งดยุกแห่งเอดินบะระ) อย่างไรก็ตามสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สมเด็จพระอัยกา (ปู่หรือตา) ของเจ้าชายมีพระราชโองการใหม่ เฉพาะพระโอรสและพระธิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรได้ตั้งแต่ประสูติ พระราชโองการฉบับนี้ไม่มีผลครอบคลุมถึงพระราชธิดาอีกพระองค์หนึ่งคือเจ้าหญิงมากาเร็ต และจากพระราชโองการฉบับดังกล่าวทำให้ชาลส์มีพระยศตั้งแต่แรกประสูติว่า เจ้าชายชาลส์แห่งเอดินบะระ
ในปีพ.ศ. 2495 พระมารดาของพระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายชาลส์ได้รับพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งคอร์นวอลล์ทันที (ในสก็อตแลนด์ คือดยุกแห่งโรเตสเซย์) นอกจากนี้ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เอิร์ลแห่งแคร์ริก บารอนแห่งเรนเฟรว ลอร์ดแห่งไอเซิล เจ้าชายและจอมทัพแห่งสก็อตแลนด์อีกด้วย
ในวันพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ เจ้าชายชาลส์ได้เสด็จไปร่วมพระราชพิธีด้วย (ในขณะที่เจ้าหญิงแอนน์ไม่ได้ตามเสด็จ) โดยพระองค์ทรงประทับนั่งระหว่างสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระราชชนนีพันปีหลวง (พระอัยยิกา (ยาย)) และเจ้าหญิงมากาเร็ต (พระมาตุจฉา (น้า) และพระมารดาทูนหัวของพระองค์))
โดยปกติแล้วพระราชวงศ์ที่มีพระชนม์ระหว่าง 5-8 พรรษานั้นจะได้รับการศึกษาส่วนพระองค์ที่พระอาจารย์เข้ามาจัดการสอนถวายที่พระราชวังบัคกิ้งแฮม หากแต่เจ้าชายชาลส์เป็นพระราชวงศ์พระองค์แรก (และรัชทายาทของอังกฤษพระองค์แรก) ที่เสด็จเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียน โดยทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนฮิลล์ เฮ้าส์ในเมืองลอนดอน และต่อมาที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านวิชาเคมีในเมืองเบิร์คแชร์ ซึ่งเจ้าชายฟิลิปส์พระบิดาของพระองค์ได้เสด็จเข้าศึกษาด้วยเช่นกัน
เจ้าชายชาลส์ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์และโรเตสเซย์ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์เมื่อพระชนมายุ 10 พรรษา หากแต่ได้มีพระราชพิธีขึ้นในอีก 11 ปีต่อมา เจ้าชายชาลส์ได้กลายเป็นพระรัชทายาทลำดับที่ 1 ในการจะทรงสืบสันตติวงศ์ของอังกฤษโดยไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงได้สืบมานับตั้งแต่บัดนั้น
ครอบครัวสเปนเซอร์ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์มานานแล้ว เลดีฟรอยเมยซึ่งเป็นคุณยายของเจ้าหญิงนั้น เป็นพระสหายและนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระราชชนนีอลิซาเบธ มาเป็นเวลานาน ประกอบกับการที่เจ้าชายแห่งเวลส์เคยทรงคบหาอยู่กับเลดี้ซาราห์และเลดี้เจน พี่สาวของเลดี้ไดอานา ทำให้พระองค์ทรงคุ้นเคยกับไดอานาพอสมควร และเมื่อเจ้าชายชาลส์พระชนม์ได้ราว 30 พรรษา พระองค์ได้รับการร้องขอให้ทรงเสกสมรส ตามกฎหมายพระองค์จะต้องเสกสมรสกับสตรีที่ไม่ได้นับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่ต้องนับถือคริสตจักรแห่งอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำให้พระองค์เสกสมรสกับหญิงบริสุทธิ์ด้วย อีกทั้งการที่สมเด็จพระราชชนนีมีพระราชประสงค์จะให้พระองค์เองกับเลดี้ฟรอมเมยได้เป็น "ทองแผ่นเดียวกัน" เจ้าชายผู้ทรงรักสมเด็จยายมากจึงทรงยอมตามพระทัย และพยายามทำพระองค์ให้คิดว่าไดอานานี้แหละ คือสุดยอดผู้หญิงที่เหมาะสมกับพระองค์ และเป็นผู้หญิงที่พระองค์รัก
มีคำร่ำลือว่า นอกจากสมเด็จพระราชชนนีแล้ว คามิลลา ปากเกอร์ โบลส์ คนรักเก่าของเจ้าชาย (และพระชายาพระองค์ปัจจุบัน) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่สนับสนุนพระองค์ให้เลือกหญิงสาววัย 19 ปี เลดี้ ไดอานา ผู้ช่วยครูโรงเรียนอนุบาลมาเป็นพระชายา
สำนักพระราชวังประกาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 ว่าพระราชพิธีอภิเษกสมรสจะจัดขึ้นที่มหาวิหารเซนต์พอล ในลอนดอน ในวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน แขกจำนวน 3,500 คนถูกเชิญมาในขณะที่ผู้ชมนับพันล้านคนทั่วโลกเฝ้ารอดูพระราชพิธี
ไดอานาเป็นหญิงคนแรกในรอบหลายศตวรรษที่สมรสกับรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ หลังการอภิเษกสมรสไดอานาได้รับยศเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ และมีลำดับพระอิสริยยศเป็นลำดับที่ 3 แห่งพระราชวงศ์ฝ่ายในของอังกฤษ ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และสมเด็จพระราชชนนีอลิซาเบธ
นอกจากนี้ไดอานายังเป็นสตรีสามัญชนคนแรกที่เสกสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ และได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ด้วย
เหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างความคาดหมายของทุกคน ในระยะแรกเจ้าหญิงไม่สามารถทรงปรับพระองค์ให้เข้ากับชีวิตของความเป็นเจ้าหญิงได้ และทรงทุกข์ทรมานจากพระโรค bulimia (น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว) หลังจากหายจากพระโรค เจ้าหญิงได้มีพระประสูติกาลเจ้าชายวิลเลียม หลังจากนั้นอีก 3 ปี พระองค์ได้มีพระประสูติกาลอีกครั้ง เจ้าชายแฮร์รี ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับเจ้าชายชาลส์มาก เนื่องจากพระองค์ทรงหวังว่าพระองค์น่าจะได้พระธิดาจากการประสูติกาลครั้งที่ 2 นี้ เนื่องจากโปรดลูกสาวของคามิลลามากอีกทั้งยังมีข่าวลือว่า แท้จริงแล้วเจ้าชายแฮร์รีอาจไม่ใช่พระโอรสของพระองค์ รายงานข่าวส่วนหนึ่งเชื่อว่าทั้งสองพระองค์เริ่มแยกกันอยู่หลังจากการเสกสมรสเพียง 5 ปี บางคนเชื่อว่าเนื่องจากเจ้าชายชาลส์ไม่สามารถทนได้ที่พระชายาได้รับความชื่นชมมากกว่าพระองค์ (คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ของเจ้าหญิงมาซาโกะ มงกุฎราชกุมารีแห่งญี่ปุ่นในปัจจุบัน) ภาระทั้งหมดกลับตกไปที่ไดอานาในฐานะที่ควรจะ "ทรงทนให้ได้" เจ้าหญิงพยายามอย่างยิ่งที่จะพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาลส์ไว้ให้นานที่สุด แต่ไม่เป็นผล สื่อมวลชนประโคมข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเจ้าชายชาลส์กับคามิลลาอย่างครึกโครม รวมทั้งประโคมข่าวระหว่างเจ้าหญิงกับผู้ชายอีกหลายคน นั่นทำให้ทั้ง 2 พระองค์คิดว่า เรื่องราวทั้งหมดควรจะจบลงเสียที ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ในขณะนั้น สื่อมวลชนเรียกว่า "สงครามแห่งเวลส์" (War of Waleses)
ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2540
มีบางแหล่งข่าวระบุว่าเจ้าชายชาลส์ทรงอยู่เบื้องหลังอุบัติเหตุที่ปลงพระชนม์ไดอาน่า ตำรวจเริ่มการสืบสวนเมื่อปี 2004 หากแต่หยุดการสืบสวนลงเนื่องจากคำขอร้องของเจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าชายแฮร์รี่
คลาเรนซ์เฮ้าส์ประกาศเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ว่าเจ้าชายชาลส์และคามิลลา ปากเกอร์ โบลส์ จะเสกสมรสกันในวันที่ 8 เมษายน ปีเดียวกันนั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 การเสกสมรสต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 9 เมษายน แทนเพราะเจ้าชายชาลส์ต้องเสด็จฯ ไปในการพระศพ
รวมทั้งได้มีการประกาศเพิ่มเติมด้วยว่าหลังจากเสกสมรสแล้ว คามิลลาจะดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ (Her Royal Highness the Duchess of Cornwall) และหลังจากชาลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ จะดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงพระชายา (Her Royal Highness the Princess Consort) เชื่อกันว่าเนื่องจากอ้างอิงตามพระอิสริยยศของเจ้าชายอัลเบิร์ตพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายพระสวามี (His Royal Highness the Prince Consort)
พระอิสริยยศเต็มเจ้าชายชาลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์ ดยุกแห่งรอธเซย์ เอิร์ลแห่งคาร์ริก บารอนแห่งเร็นฟริว ลอร์ดแห่งไอเลส เจ้าชายและธนารักษ์ใหญ่แห่งสก็อตแลนด์ อัศวินกัลยาณมิตรแห่งราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์ อัศวินแห่งราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลและสูงส่งยิ่งทริสเทิล ปรีชากรและหัวหน้าอัศวินสายสะพายแห่งราชอิสริยาภรณ์อันทรงเกียรติบาธ สมาชิกราชอิสริยาภรณ์เมริท อัศวินแห่งราชอิสริยาภรณ์ออสเตรเลีย กัลยาณมิตรแห่งราชอิสริยาภรณ์ควีนเซอร์วิส สมาชิกเกียรติยศแห่งแห่งแคตเชวันอิริยาภรณ์เมริท หัวหน้าอัศวินแห่งราชอิสริยาภรณ์โลโกฮู สมาชิกคณะองคมนตรีอันทรงเกียรติยิ่งในสมเด็จพระราชินีนาถ ราชองครักษ์ในสมเด็จพระราชินีนาถ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าชายชาลส์_เจ้าชายแห่งเวลส์